ภาวะที่มีเหงื่อออกมากกว่าปกติ (Hyperhidrosis)
วันที่ 22 ธ.ค. 2553 | โดย Redlab User
การหลั่งเหงื่อออกมาภายนอกร่างกาย เป็นภาวะปกติของร่างกาย ในการควบคุมอุณหภูมิ โดยจะมีการส่งผ่านปลายประสาทอัตโนมัติ (Sympathetic nervous system) แต่ในบางคนพบว่ามีการหลั่งเหงื่อออกมามากกว่าปกติ (Hyperhidrosis) มักพบที่บริเวณ รักแร้ ฝ่ามือ ฝ่าเท้า รวมถึงใบหน้าและลำตัว หากเกิดที่บริเวณรักแร้ อาจทำให้มีการอับชื้น เกิดกลิ่นเหงื่อหรือมีกลิ่นตัวแรงได้ ภาวะนี้มักพบได้บ่อยโดยเฉพาะในวัยรุ่น เป็นภาวะที่ก่อให้เกิดความไม่สะดวกและไม่สบายใจอย่างมาก มีผลต่อการทำงาน การเข้าสังคม และทางด้านจิตใจ ทำให้เกิดความรู้สึกขาดความมั่นใจ
ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด พบว่าอาจเกิดจากภาวะเครียดวิตกกังวล ตื่นเต้น หรือเกิดจากมีสาเหตุของโรค เช่น พบว่าต่อมไทรอยด์มีการทำงานที่ผิดปกติ

  1. ใช้สารในกลุ่มที่ลดการขับเหงื่อที่มีสารอลูมิเนียมคลอไรด์ (Aluminium chloride) ในรูปของโรลออน ครีม หรือสเปรย์ แต่อาจลดเหงื่อได้เล็กน้อย และต้องใช้บ่อยๆ ในบางรายจึงอาจเกิดการระคายเคืองต่อผิว ทำให้รักแร้เป็นสีดำคล้ำได้
  2. วิธีไอออนโตโฟรเรซิส (Iontophoresis) ที่ผ่านกระแสไฟฟ้าขนาดอ่อนลงสู่ใต้ผิวหนังเพื่อลดเหงื่อ การรักษาวิธีนี้ไม่ถาวร ต้องทำซ้ำหลาย ๆ ครั้ง จึงไม่เป็นที่นิยม
  3. การผ่าตัดต่อมเหงื่อ การผ่าตัดด้วยวิธีนี้จะมีการเลาะต่อมเหงื่อออกไป หรือมีการตัดเส้นประสาทที่มาเลี้ยงต่อมเหงื่อเพื่อให้สั่งงานลดลง แต่การผ่าตัดมักไม่เป็นที่นิยมเนื่องจากอาจเกิดผลข้างเคียง ได้แก่ แผลเป็น โดยจะมีแผลขนาดเล็กราวๆ 1 ถึง 2 เซนติเมตร หรือพบว่าอาจมีการติดเชื้อได้ในบางราย
  4. ปัจจุบันได้มีการใช้วิธี Dermal modulation โดยการฉีดสาร dermal modulator เข้าที่บริเวณใต้ผิวหนัง เช่น บริเวณรักแร้ ซึ่งจะมีการออกฤทธิ์โดยยับยั้งการหลั่งเหงื่อบริเวณต่อมเหงื่อ ให้ทำงานช้าลง จึงทำให้เหงื่อลดลง โดยจะใช้ยาชาทาบริเวณที่ฉีดก่อนการรักษา วิธีนี้เป็นวิธีที่สะดวกได้ผลดี


คัดลอกแล้ว
จาก 0 คน
VIEWS
7518