โรคด่างขาว Vitiligo
วันที่ 22 ธ.ค. 2553 | โดย Redlab User


เป็นโรคที่เกี่ยวกับความผิดปกติของสีผิว โดยมีตัวเซลล์สร้างสีถูกทำลายจนขาดหายไป (Absence of melanocytes) ทำให้ผิวหนังเปลี่ยนแปลงจากสีปกติเป็นสีขาว ขอบเขตชัด รอยขาวนี้จะขาวมาก มีหลายรูปแบบ เป็นวงเดียว หรือหลายวงก็ได้ ขน และผม อาจขาวด้วยก็ได้

ระบาดวิทยา
  • โรคนี้พบได้อัตราร้อยละ 1 ของประชากร
  • พบได้ในทุกกลุ่มอายุ แต่พบว่า 50% ของคนไข้ทั้งหมด เริ่มเป็นในอายุ 10-30 ปี
  • พบได้ทั้งเพศหญิงและเพศชายในอัตราเท่าๆ กัน, พบได้ทุกเชื้อชาติ
  • พบว่ามีอุบัติการณ์สูงขึ้นในครอบครัว, มีรายงานว่ามากกว่า 30% ของคนไข้มีประวัติ ในครอบครัวเป็นโรคนี้ เกิดจากการทำลายตัวเซลล์สร้างสี (melanocyte) ที่ผิวหนังเป็นหย่อมๆ เป็นผลให้ผิวหนังบริเวณนั้นเกิดรอยขาวขึ้น การทำลายตัวเซลล์สร้างสี อาจเป็นเพราะ 
  • ขบวนการสร้างสีของตัวเซลล์ สร้างสีเองมีสารที่เป็นพิษเกิดขึ้น ในระหว่างขบวนการสร้างสี และทำลายเซลล์สร้างสีเอง
  • ระบบประสาท เชื่อว่าสารที่หลั่งจากปลายเซลล์ประสาท เป็นสารที่ทำลายเซลล์สร้างสีได้ 
  • ร่างกายสร้างสารต่อต้านเซลล์สร้างสีของตัวเอง จึงเกิดการทำลายเซลล์สร้างสี และเห็นเป็นรอยขาว
     
ลักษณะของโรค
  • เริ่มจากผื่นราบ สีขาวคล้ายชอล์ก มีขนาดตั้งแต่ 5 มม. จนถึงหลายเซนติเมตร
  • รูปร่างกลมรี
  • บางครั้งถ้ามีการอักเสบ จะพบว่าขอบจะแดงชัด และนูนขึ้น อาจมีอาการคันได้
แบ่งชนิดของโรคด่างขาวได้เป็น 5 ชนิด
  1. ด่างขาวบริเวณเดียว เรียกว่า Focal type มีจำนวนรอยขาว วงเดียวหรือมากกว่า ในบริเวณใดบริเวณหนึ่งของร่างกาย มักเกิดในคนอายุน้อย
     
  2. รอยขาวเป็นกลุ่ม เรียกว่า Segmental type มักเกาะกลุ่มเรียงกันคล้ายเรียงไปตามเส้นประสาท อยู่ข้างเดียวกัน มักเกิดในคนอายุน้อย
     
  3. รอยขาวกระจายตามส่วนต่างๆ ทั่วไป เรียกว่า Vulgaris type เป็นแบบที่พบมากที่สุด มักพบในผู้ใหญ่ มักลามมากขึ้นเรื่อยๆ รักษาค่อนข้างยาก
     
  4. รอยขาวที่ปลายนิ้ว เรียกว่า Acrofacial type มักเป็นปลายนิ้วมือนิ้วเท้า รอบริมฝีปาก พบในผู้ใหญ่ และมักลามขึ้นเรื่อยๆ
     
  5. ด่าวขาวเกือบทั้งตัว เรียกว่า Universal type เป็นกระจายเกือบทั่วร่างกาย เหลือบริเวณสีปกติเพียงเล็กน้อย พบในผู้ใหญ่
     

    โรคด่างขาวไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด แต่เป็นอุปสรรคของความสวยงาม การรักษาก็คือ ทำให้รอยด่างหายไป วิธีการรักษาโรคด่างขาวมีหลายแบบดังนี้
    1. ทายาจำพวกสเตียรอยด์ (STERIOD) ได้ผลดีกับด่างขาวที่เป็นบริเวณใบหน้า และลำคอ
       
    2. ใช้ยาซึ่งออกฤทธิ์กระตุ้นการทำงาน และการแบ่งตัวของเซลล์สร้างสี เมื่อได้รับแสงอัลตร้าไวโอเลตมีทั้งยาทา และยารับประทาน และให้ผู้ป่วยตากแดดหรือฉายแสง ในเวลาที่แพทย์กำหนด
       
    3. วิธีนี้ผู้ป่วยอาจมีอาการข้างเคียง คือปวดแสบ ปวดร้อนผิวหนังแดงเป็นตุ่มน้ำได้ ถ้าไม่ระวังขนาดของยาและแสง
       
    4. การปลูกเซลล์สร้างสี โดยลอกผิวหนังที่เป็นโรคทิ้ง นำผิวหนังปกติที่มีเซลล์สร้างสีอยู่มาปลูกแทน วิธีนี้ได้ผลดี แต่ทำได้ครั้งละไม่มากจึงต้องทำซ้ำหลายๆ ครั้ง


    • โรคด่างขาวเป็นโรคเรื้อรัง รอยโรคอาจคงที่หรือลามช้าๆ
    • พบว่ามีการกลับคืนมาของสีผิวได้เอง ในรอยด่างบางส่วนถึง 30% ในผู้ป่วย
    • โรคด่างขาวมักพบร่วมกับกรดไทรอยด์ โรคเบาหวาน และโรคโลหิตจาง จึงจำเป็นต้องค้นหาโรคเหล่านี้ร่วมด้วย




คัดลอกแล้ว
จาก 0 คน
VIEWS
44643
TAGS: