สิว Acne Vulgaris
วันที่ 22 ธ.ค. 2553 | โดย Redlab User



สิว เป็นโรคของต่อมไขมันที่พบบ่อยในช่วงวัยรุ่น แต่ก็สามารถพบได้ตั้งแต่แรกเกิด (Acne neonatorum) ซึ่งเป็นผลมาจากฮอร์โมน (androgen) และในบางรายอาจเป็นสิวได้นานถึงอายุ 30 ปี หรือมากกว่า โดยส่วนใหญ่จะพบสิวเมื่ออายุ 14-17 ปีในผู้หญิง และอายุ 16-19 ปี ในผู้ชาย และมักหายไปในช่วงอายุ 20-25 ปี
  • เกิดจากการอุดตันที่เกิดขึ้นบริเวณท่อของต่อมไขมัน ไขมันที่ถูกสร้างขึ้นจะรวมตัวกับเซลชั้นขี้ไคลจากผนังท่อ กลายเป็นก้อน คอมีโดน (COMEDONE) ทำให้เกิดการอักเสบตามมา
     
  • เมื่อมีการอุดตันเกิดขึ้น จะพบว่ามีการเพิ่มจำนวนของเชื้อแบคทีเรีย (P.acnes) ซึ่งแบคทีเรียเหล่านี้ จะสร้างสารที่ทำให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อ ทำให้กลายเป็นสิวอักเสบ
     
  • ฮอร์โมน จะมีส่วนทำให้ต่อมไขมันมีขนาดใหญ่ และกระตุ้นให้ต่อมไขมัน สร้างไขมันออกมามากขึ้น
ลักษณะอาการ

ตำแหน่งที่พบว่าเป็นสิวมากที่สุด คือ บริเวณ ใบหน้า รองลงมา คือ บริเวณหลัง, หน้าอก และ ไหล่ สามารถแบ่งแยกลักษณะของสิวเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ

1. สิวไม่อักเสบ (non-inflammatory comedones) แบ่งออกเป็น
  1. สิวหัวเปิด หรือ สิวหัวดำ (Open comedones หรือ Black head comedones) เป็นตุ่มนูนขนาดเล็ก และมีจุดดำอยู่ตรงกลาง ซึ่งสารสีดำเหล่านี้จะประกอบไปด้วย ไขมัน, เคอราติน, และแบคทีเรีย (Propionibacterium acnes)
  2. สิวหัวปิด หรือ สิวหัวขาว (Closed comedones หรือ White head comedones) เป็นตุ่มนูนขนาดเล็ก สีเดียวกับผิวหนัง ส่วนใหญ่จะกลายเป็นสิวอักเสบ
2. สิวอักเสบ มีหลายลักษณะ เช่น
  • ตุ่มนูนแดง
  • ตุ่มหนอง
  • ก้อนบวมแดงใต้ผิวหนัง
  • ถุงหนอง หรือ ฝี เวลาหายจะมีโอกาสเป็นแผลเป็นได้ง่าย

ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดสิว
  1. พันธุกรรม ยังไม่มีข้อมูลสรุปแน่ชัดว่าพันธุกรรมเกี่ยวกับการเป็นสิว แต่พบว่าในฝาแฝดไข่ใบเดียวกัน แฝดที่เป็นสิวจะมีคู่แฝดที่เป็นสิวเช่นเดียวกันถึงร้อยละ 97.9 แต่ในแฝดไข่คนละใบมีเพียงร้อยละ 45.8 ของคู่แฝดที่เป็นสิวเช่นเดียวกัน
     
  2. ยาบางชนิด เช่น ยาทาแก้แพ้แก้คัน ที่มีสารประเภทสเตียรอยด์ หรือ การได้รับฮอร์โมน
     
  3. เครื่องสำอาง เช่น โฟมล้างหน้า, สบู่ยา, ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวต่างๆ เพราะสารเคมีที่ผสมในเครื่องสำอาง อาจกระตุ้นให้เกิดคอมีโดนได้
     
  4. ความเครียด
     
  5. การรบกวนผิวมากๆ เช่น การเช็ดถูหน้าแรงๆ, การขัดหรือนวดหน้า
     
  6. อาหาร ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าอาหารมีผลต่อการเกิดสิว


1. ลดการอักเสบให้เร็วที่สุด เพื่อลดโอกาสที่จะเกิดรอยแผลเป็น
2. ลดการอุดตัน เพื่อป้องกันไม่ให้กลายเป็นสิวอักเสบ
3. ป้องกันการเกิดสิวใหม่



ยารักษาสิว
ยาทา ได้แก่ ยาละลายคอมีโดน, ยาปฏิชีวนะ
  1. กรดวิตามินเอ มีฤทธิ์ทำให้คอมีโดนหลุดออก และป้องกันการเกิดใหม่ ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อย คือ อาการระคายเคือง หน้าแดง แสบ และ แห้ง ในบางรายอาจเกิดการแพ้แสงแดดได้
     
  2. เบนโซอิน เพอรอกไซด์มีฤทธิ์ลดจำนวนแบคทีเรีย ลดการอักเสบ ผลข้างเคียงที่พบบ่อย คือ หน้าแห้งเป็นขุย, แสบ, หน้าแดง
     
  3. กรดซาลิซาลิก ละลายคอมีโดน แต่ไม่มีผลต่อเชื้อแบคทีเรีย
     
  4. ยาปฏิชีวนะ ชนิดทา มีหลายชนิด ออกฤทธิ์ลดจำนวนแบคทีเรีย ช่วยลดการอักเสบ

ยารับประทาน โดยทั่วไปจะใช้ยา เพื่อลดการอักเสบของสิว โดยจะใช้ชนิดใดจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของสิวในผู้ป่วยแต่ละราย ในรายที่ไม่ได้ผล หรือมีการอักเสบรุนแรง อาจจะใช้ยาชนิดอื่นได้ เช่น ยากรดวิตามินเอ หรือ ฮอร์โมนบางชนิด เพื่อให้ผลในการรักษาดีที่สุด



วิธีอื่นๆ
  1. การกดสิว ควรใช้เครื่องมือที่เหมาะสม และใช้ได้กับสิวที่ไม่อักเสบ ชนิดหัวดำ หรือ หัวขาว
     
  2. สำหรับสิวอุดตันหัวปิด อาจใช้ปลายเข็มฉีดยา หรือเครื่องจี้ไฟฟ้าเปิดหัวสิว แล้วจึงกดออก
     
  3. การฉีดยาเข้าไปในหัวสิวอักเสบที่มีขนาดใหญ่ จะช่วยให้สิวยุบเร็วขึ้น


โรคนี้มักจะไม่หายขาด เพราะมีปัจจัยทั้งภายใน และภายนอก สามารถกระตุ้นให้เกิดได้ แต่ก็สามารถควบคุมได้โดยการดูแลรักษา หลีกเลี่ยงการรบกวนผิว เช่น การขัด นวดหน้า ถูหน้าแรงๆ หรือ หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่อาจมีสารกระตุ้นให้เกิดสิว รวมถึงไม่บีบสิว หรือแกะสิว เพราะจะทำให้การอักเสบลุกลาม เป็นรอยแผลเป็นมากขึ้นได้



ในกรณีที่เป็นสิวง่าย ควรจะทายาละลายการอุดตันเป็นประจำ เพื่อป้องกันการเกิดสิวใหม่

คัดลอกแล้ว
จาก 1 คน
VIEWS
31242
TAGS: