รอยแดง รอยดำจากสิวอักเสบ ดูแลรักษาอย่างไร
วันที่ 22 ม.ค. 2554 | โดย RCSkinClinic Administrator

รอยแดง รอยดำจากสิวอักเสบ (Postinflammatory pigmentation) เป็นอาการหลังมีการอักเสบของสิว ผิวหนังบริเวณนั้นมักจะมีสีที่เปลี่ยนแปลงไป ช่วงแรกอาจเป็นรอยแดงๆ ช้ำๆ ต่อมาสีอาจจะเข้มขึ้น เห็นเป็นสีน้ำตาลจนถึงเกือบดำ โดยมากจะพบในผู้ที่มีผิวคล้ำง่ายกว่า ซึ่งสร้างปัญหาด้านความสวยงามให้ผู้ที่เป็นสิวค่อนข้างมาก โดยทั่วๆ ไป สามารถหายเองได้ในเวลาไม่กี่สัปดาห์ หรืออาจใช้เวลาถึง 18 เดือน ในการจางหายไปแต่หากไม่ทันใจ ก็อาจจะใช้ยาทาลดรอยดำได้

รอยแผลเป็นสิว (Scar)
เมื่อเป็นสิวแล้ว ที่ตามมาและน่ากลัวสำหรับใบหน้าสวยใสของวัยมันส์ทั้งหลาย ก็เห็นจะหนีไม่พ้น แผลเป็น ซึ่งมักจะเกิดจากสิวที่อักเสบ และอยู่ค่อนข้างลึกลงไปในผิว แต่ในบางครั้งก็อาจจะเกิดได้จากสิวอักเสบที่อยู่ตื้นกว่าได้ ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลด้วย เราสามารถแบ่งรอยแผลเป็นที่เกิดจากสิวได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ

  • รอยแผลเป็นนูน (Hypertrophic scar) รอยแผลเป็นชนิดนี้ จะมีลักษณะนูนแข็ง ผิวค่อนข้างเรียบ สีค่อนข้างแดงหรือชมพู ขนาดมีได้ตั้งแต่ 1-2 มิลลิเมตร จนถึงมากกว่า 1 เซนติเมตร ได้ ตำแหน่งที่พบแผลเป็นนูนเหล่านี้ ได้บ่อย คือ บริเวณใต้กราม และ ลำตัวช่วงบน
  • รอยแผลเป็นชนิดบุ๋ม (Ice-pick and Depressed fibrotic scar)
    - แผลเป็นชนิดลึกแหลม (Ice-pick scar) คือ แผลเป็นที่มีลักษณะเป็นรูเล็กๆ ขอบเขตชัดเจน ชัน อาจตื้นหรือลึกก็ได้ พบได้บ่อยที่บริเวณแก้ม
    - แผลเป็นชนิดหลุม (Depressed fibrotic scar) มักจะมีขนาดกว้างกว่า ขอบเขตค่อนข้างชัดเจน ที่ก้นหลุมจะค่อนข้างแข็ง ดึงยืดไม่ได้
  • แผลเป็นคีลอยด์ (Keloid scar) ลักษณะคล้ายแผลชนิดนูน แต่จะเป็นมากกว่าโดยจะลุกลามขยายกว้างกว่าตัวสิวอักเสบเดิม

การรักษารอยแผลเป็นของสิว
แผลเป็นจากสิวเป็นปัญหาหนึ่งที่ค่อนข้างแก้ไขได้ยาก แต่อย่าหนักใจไปค่ะ เพราะสมัยนี้วิทยาการทางการแพทย์ก้าวหน้ามาก มีวิธีรักษารอยแผลเป็นได้


การรักษาแผลเป็นหลุม

การกรอผิว (Dermabrasion) เป็นวิธีที่ต้องอาศัยความชำนาญของแพทย์ ถ้าทำ ตื้นเกินไป ก็จะไม่ได้ผลตามที่ต้องการ แต่หากลึกเกินไปก็อาจทำให้เกิดรอยแผลเป็นใหม่ หรือเม็ดสีเปลี่ยนแปลงได้ แผลเป็นหลุมที่เหมาะในการกรอผิว คือ แบบที่เป็นหลุมกว้างๆ แต่ค่อนข้างตื้น จะเหมาะกว่าหลุมสิวที่ลึกแหลม (Ice pick) ในกรณีที่แผลเป็นค่อนข้างมาก อาจต้องทำซ้ำ จนกว่าจะได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ผลข้างเคียงที่พบ คือ อาจเกิดตุ่มเม็ดขาวขนาดเล็ก (Milia) ในบริเวณที่ทำการรักษา ในผู้ที่มีผิวสีเข้ม อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสีผิว ในบริเวณที่ทำ (Post-inflammatory pigmentary alteration) ได้

การตัดรอยแผลเป็นและยกขึ้น (Punch elevation) โดยใช้เครื่องมือคล้ายท่อเล็กๆ ที่มีความคมครอบลงไป บนรอยแผลหลุม ตัดขอบโดยรอบหลุมแผลแล้วดึงยกให้ได้ระดับเดียวกับผิวหนังปกติ แล้วตรึงไว้ด้วยการเย็บขอบแผล หรือกาวชนิดพิเศษ รอให้แผลหาย รอยจะสมานกับผิวข้างเคียงได้ดีขึ้น

เลเซอร์ เป็นวิธีการที่ค่อนข้างใหม่ และเริ่มเป็นที่นิยม มากขึ้นเรื่อยๆ แบ่งเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ ดังนี้

- ชนิดที่ทำให้เกิดแผล (Ablative laser)
ใช้หลักการคล้ายกับการกรอผิว ผลข้างเคียงคล้ายกัน คือ เจ็บ จึงต้องมีการทำให้ผิวบริเวณที่จะทำการรักษาให้ชาก่อน นอกจากนั้นก็คือ อาจทำให้เกิดตุ่มเม็ดขาวขนาดเล็ก (Milia) เกิดการเปลี่ยนแปลงของสีผิวในบริเวณที่ทำ และต้องใช้เวลาพักฟื้น หลายวัน

- ชนิดที่ไม่ทำให้เกิดแผล (Non-ablative laser)
หลักการคือปล่อยพลังงานไปกระตุ้น คอลลาเจนในชั้นหนังแท้ โดยไม่ทำอันตรายต่อผิวหนังชั้นบน จึงเหมือนเป็นการเติมคอลลาเจนใหม่ให้กับผิว เมื่อดูด้วยตาจะเห็นรอยหลุมสิว ตื้นขึ้น เลเซอร์ในกลุ่มนี้ ไม่ทำให้เกิดแผล ไม่เจ็บ จึงไม่จำเป็นต้องใช้ยาชาก่อนทำการรักษา สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติหลังทำเลเซอร์แล้ว แต่วิธีนี้มักต้องทำหลายครั้ง ติดต่อกัน ทุก 2-4 สัปดาห์ เฉลี่ยประมาณ 3-6 ครั้ง จึงจะเห็นผล และปัจจุบันยังมีราคาค่อนข้างสูง

- ชนิดกึ่งทำให้เกิดแผลถลอก (Fractional laser)
คือ มีผลในการลอกผิวด้วย แต่จะมีผลข้างเคียงน้อยกว่า Ablative laser เนื่องจากตัวเลเซอร์จะทำการลอกผิว ด้วยความถี่ที่สูงกว่า Ablative laser ทั่วไป ทำให้เห็นเป็นรอยแผลน้อยกว่า รวมทั้งยังมีฤทธิ์กระตุ้นคอลลาเจนใต้ผิว คล้าย Non-ablative laser ด้วย ส่วนใหญ่ต้องทำเฉลี่ย 4-5 ครั้ง ผลข้างเคียงที่พบได้ คือ การเปลี่ยนแปลงสีผิวบริเวณที่ทำหัตถการ และราคายังค่อนข้างสูง

การฉีดสารเติมร่องผิว (Filler) เช่น คอลลาเจน กรดไฮยาลูโรนิค ในรายที่แผลเป็นหลุมนั้น ดึงยึดได้ และมีผังผืดน้อย แต่อาจไม่เหมาะในผู้ที่มีรอยแผลเป็นหลายแห่ง ผลข้างเคียงที่พบไม่บ่อย แต่สำคัญ คือ อาจเกิดปฏิกิริยาของร่างกาย ต่อสารที่ฉีดเข้าไป รวมทั้งอาจคลำได้เป็นก้อนบริเวณที่ฉีดยา
คัดลอกแล้ว
จาก 3 คน
VIEWS
31543
TAGS: