เดิมมีการแบ่งชนิดฝ้า เป็นฝ้าตื้นในชั้นหนังกำพร้า ฝ้าลึกในชั้นหนังแท้ และฝ้าแบบผสม ส่วนในปัจจุบันมีการศึกษาเพิ่มเติมพบว่า ฝ้าเป็นโรคที่มีเม็ดสีเมลานินในชั้นหนังกำพร้าเป็นหลัก โดยมีสีน้ำตาลอ่อนไปจนถึงสีเทา อาจพบร่วมกับมีเส้นเลือดแดงขยายตัวในบริเวณเดียวกัน
ฝ้า (Melasma) เป็นโรคที่มีลักษณะเป็นผื่นแบนขนาดไม่กี่มิลลิเมตรจนไปถึงเป็นแผ่นขนาดใหญ่ บริเวณหน้า เช่น หน้าผาก คิ้ว แก้ม และอาจพบที่จมูกหรือเหนือริมฝีปากได้ หรือลำคอ พบได้บ่อยในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย มักพบในคนที่มีชนิดของผิวในระดับ 4-6
ปัจจัยหลัก ได้แก่ ลักษณะทางพันธุกรรมที่ทำให้เซลล์สร้างเม็ดสีมีความไวมากเกิน การกระตุ้นจากรังสียูวีและคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในช่วงคลื่นอื่นๆ และฮอร์โมน เช่น เอสโตรเจน
กลไกการเกิดยังไม่ทราบแน่ชัด แต่พบปัจจัยกระตุ้นที่จำเพาะ ได้แก่ ยาคุมกำเนิด การได้รับเอสโตรเจนทดแทน ภาวะที่รังไข่หรือต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ เนื้องอกที่รังไข่ เครื่องสำอาง ยาที่ทำให้ผิวไวต่อแดด เป็นต้น
ฝ้าถูกพบว่าเป็นเม็ดสีเมลานินในชั้นหนังกำพร้า อาจพบเส้นเลือดที่กระตุ้นเซลล์สร้างเม็ดสีในชั้นหนังแท้ การกระตุ้นฝ้าอาจเริ่มจากแดด ทำให้เกิดปฏิกิริยาระหว่างเซลล์ในชั้นผิวหนัง เกิดสารแห่งการอักเสบและสารอื่นๆ มากระตุ้นเซลล์สร้างเม็ดสี ส่วนเส้นเลือดจะส่งโกรทแฟคเตอร์บางชนิด มากระตุ้นเซลล์สร้างเม็ดสีร่วมด้วย
การรักษา จำเป็นต้องขัดขวางเส้นทางกระตุ้นฝ้าไปพร้อมกันในทุกเส้นทาง เช่น ทาครีมกันแดด ร่วมกับการทาสารทำลายเม็ดสีผิวส่วนเกิน ทาหรือรับประทานสารยับยั้งการสร้างเม็ดสีผิวใหม่ หรือทำเลเซอร์ยับยั้งเส้นเลือด เป็นต้น
References
Kang HY, Ortonne JP. What should be considered in treatment of melasma. Ann Dermatol 2010;22:373-378
Kim EH, Kim YC, Lee ES, Kang HY. The vascular characteristics of melasma. J Dermatol Sci 2007;46:111-116.
Kim NH, Lee CH, Lee AY. H19 RNA downregulation stimulated melanogenesis in melasma. Pigment Cell Melanoma Res 2010;23:84-92.