โบท๊อกซ์ Botox
วันที่ 22 ธ.ค. 2553
| โดย
Redlab User
โบท๊อกซ์ เป็นชื่อทางการค้าของ Botulinum toxin ความจริงแล้วมีหลายยี่ห้อ เช่น BOTOX, DYSPORT, MYOBLOC เป็นต้น
Botulinum toxin (BTX)
Botulinum toxin เป็นโปรตีนที่สร้างโดยจุลินทรีย์ ชื่อ Clostridium botulinum BTX ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทของกล้ามเนื้อ โดยไปขัดขวางการทำงานของกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรืออัมพาต ถ้าได้รับในปริมาณที่มาก อาจทำให้ระบบหายใจล้มเหลวและเสียชีวิตได้
ประโยชน์ของ BTX
ได้มีการนำ BTX มาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์เมื่อ 1977 โดยใช้รักษาคนไข้ที่มีปัญหาตาเข และต่อมาก็มีการนำใช้แก้ปัญหาเพื่อความสวยงาม ปัจจุบันมีการใช้ BTX แก้ปัญหาต่างๆ มากมาย เช่น ตาเข, ใบหน้าเบี้ยว, กล้ามเนื้อเกร็งกระตุกของตา คอ แขน ขา, ปัญหาเหงื่อออกมากผิดปกติ และปัญหาปวดเกร็งกล้ามเนื้อ เป็นต้น
BTX กับความสวยงาม
ปี 1990 แพทย์สามีภรรยา สกุล Carruthers ได้พบว่า ผิวบริเวณที่ฉีด BTX เพื่อรักษาปัญหากล้ามเนื้อเกร็งซึ่งเดิมมีริ้วรอยอยู่ ปรากฎว่าริ้วรอยลดลง จึงได้ทำการวิจัยต่อเนื่อง และในปี 2002 องค์การอาหารและยาของสหรัฐ ก็ได้อนุมัติให้ใช้สาร BTX ในการรักษาริ้วรอยของผิว
BTX แก้ปัญหาอย่างไร
ปัจจุบันมีการนำ BTX มาแก้ปัญหาความงามหลากหลาย หลักการก็คือ BTX จะไปลดการทำงานหรือคลายการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ BTX จึงได้ผลดีในกรณีของริ้วรอยที่เกิดจากการทำงานของกล้ามเนื้อเท่านั้น เช่น รอยตีนกาที่หางตา, รอยย่นบริเวณหน้าผากและหว่างคิ้ว นอกจากนี้ ยังมีการประยุกต์ใช้ในอีกหลายกรณี เช่น ลดขนาดของกล้ามเนื้อบริเวณกราม (ในกรณีที่มีขนาดใหญ่) เพื่อทำให้รูปหน้าดูเรียวลง ลดขนาดของน่อง เป็นต้น
ความปลอดภัย
BTX มีความปลอดภัยถ้าเทียบปริมาณที่ใช้กับขนาดที่ทำอันตราย ยกตัวอย่าง ปกติจะใช้ BTX 10-30 ยูนิตต่อหนึ่งบริเวณที่ทำการรักษา (สูงสุดประมาณ 100 ยูนิต) แต่ขนาดที่จะทำให้เสียชีวิตได้ (LETHAL DOSE) จะประมาณ 2,800 – 3,000 ยูนิต
ผลแทรกซ้อนที่พบบ่อยก็จะเป็นเรื่องการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อข้างเคียง เช่น หนังตาตก ปกติ BTX จะมีฤทธิ์อยู่ประมาณ 3 – 4 เดือน แต่กรณีข้อแทรกซ้อนมักจะอยู่สั้นกว่าประมาณ 4 – 6 สัปดาห์ เนื่องจาก มักจะเป็นการซึมของยาไปบริเวณใกล้เคียง ปริมาณยาจึงน้อยกว่า
ดังนั้น ในการใช้ BTX จึงมีแนวทางและมาตรฐานของการทำทุกขั้นตอน เพื่อผลลัพธ์ที่คาดหวัง และหลีกเลี่ยงข้อแทรกซ้อน
TAGS:
Botulinum toxin,Botulinum,toxin,ตาเข,ใบหน้าเบี้ยว,กล้ามเนื้อ,ตา,คอ,แขน,ขา,เหงื่อออกมาก,ปวดเกร็งกล้ามเนื้อ,ปวดเกร็งกล้ามเนื้อ,ปวดเกร็งกล้ามเนื้อ,กราม